ความเป็นมา


     หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2554 และฉบับปรับปรุง 2561, 2566 นอกจากจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีอุดมการณ์และคุณลักษณะตามอุดมการณ์ และเป้าหมายในการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ทั้ง 9 ประการแล้ว  ยังได้จัดทำให้ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการและครอบคลุมสาระของข้อกำหนดการเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกด้วย

     การเรียนตามหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  และตอนปลาย  ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคพุทธศักราช 2554 และฉบับปรับปรุง 2561, 2566 นอกจากนักเรียนต้องลงทะเบียนรายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่ม 1 และเลือกลงทะเบียนรายวิชาเพิ่มเติม กลุ่ม 2 และมีผลการเรียนแต่ละรายวิชาไม่น้อยกว่า 2.0 แล้ว นักเรียนยังต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ผ่านการประเมินความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียนและผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรฉบับนี้ ดังรายละเอียดดังนี้

  1. รายวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เช่นเดียวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และฉบับปรับปรุง 2561, 2566  นักเรียนจะได้เรียนเหมือนกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกประการ ทั้งเวลาเรียน ตัวชี้วัด  และสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น
  2. รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่ม 1 เป็นรายวิชาที่จัดขึ้นให้ตอบสนองและให้สอดคล้องกับอุดมการณ์และเป้าหมายในการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันโรงเรียนวิทยาศาสตร์ยังมีเป้าหมายพัฒนานักเรียนทุกคนให้มีคุณภาพระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ
  3. รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่ม 2 เป็นรายวิชาเลือกเสรีที่จัดให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความรัก ความถนัด ความสนใจ และจุดเน้นสถานศึกษา  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
  4. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ นักเรียนต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรฉบับนี้ จึงจะถือว่าจบการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์
  5. การอ่านคิดวิเคราะห์และเขียน นักเรียนต้องผ่านการประเมินความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรฉบับนี้ จึงจะถือว่าจบการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์
  6. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นักเรียนต้องผ่านการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  ทั้งกิจกรรมแนะแนวและพัฒนาการเรียนรู้  กิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะ  กิจกรรมพัฒนาจิตสาธารณะ  กิจกรรมพัฒนาจิตสำนึกความเป็นไทยและความเป็นประชาธิปไตย  และกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรฉบับนี้ จึงจะถือว่าจบการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์